สาเหตุ
ปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ (De quervain’s desease) เกิดจากการที่ใช้งานนิ้วหัวแม่มือร่วมกับการกระดกนิ้วซ้ำ ๆ เป็นเวลานานจนเกิดการอักเสบ เช่น การกดโทรศัพท์มือถือด้วยนิ้วหัวแม่มือข้างเดียว หรือการตีกลองที่ต้องเกร็งข้อมือสู้กับแรงกระแทกขณะตีกลอง ทำให้เอ็นและปลอกหุ้มเอ็นเสียดสีกันเป็นเวลานานจนเกิดการอักเสบ และมีอาการปวดตามมา

ปัจจัยเสี่ยง
- มักพบในช่วงอายุ 30-50 ปี
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน รูมาตอยด์ และ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งโรคประจำตัวเหล่านี้จะทำให้เลือดไปเลี้ยงเส้นประสาทและเอ็นส่วนปลายน้อยลง ทำให้เกิดเอ็นอักเสบได้ง่ายขึ้น
- การตั้งครรภ์
- อาชีพที่ต้องใช้ข้อมือ เช่น แม่ครัว แม่บ้าน ช่างไม้ ช่างกรีดกระจก เป็นต้น
- นักกีฬา เช่น แบดมินตัน เทนนิส ปิงปอง
อาการ
- ขยับข้อมือหรือนิ้วหัวแม่มือได้ยากลำบาก
- มีอาการปวด บวม แดง ร้อน บริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือ
- มีจุดกดเจ็บตรงโคนนิ้วมือใกล้กับข้อมือ
วิธีการเช็คอาการปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบง่าย ๆ ด้วยตัวเอง
ให้เพื่อนๆกำนิ้วหัวแม่มือไว้ในอุ้งมือ และหักข้อมือลง หากมีอาการเจ็บแปล็บขึ้นมาบริเวณข้อมือฝั่งนิ้วหัวแม่มือ
แสดงว่าเพื่อนๆอาจมีภาวะปลอกหุ้มเอ็นอักเสบ ต้องรีบรักษาก่อนอาการปวดจะแย่กันนะคะ

วิธีการรักษาและดูแลตนเอง
- แช่น้ำอุ่น 15-30 นาที วันละ 1-2 ครั้ง หากมีอาการปวดบวม แดง ร้อน ให้ประคบเย็น 5-10 นาที วันละ 3-4 ครั้ง จนกว่าอาการอักเสบจะลดลงจึงเปลี่ยนมาเป็นแช่น้ำอุ่น
- พักการใช้ข้อมือ
- รักษาด้วยวิธีการทางกายภาพบำบัด ด้วยเครื่องมือลดปวดต่าง ๆ เช่น อัลตร้าซาวด์ เลเซอร์ กระตุ้นไฟฟ้า
- หากมีอาการปวดทรมานมากอาจจะต้องฉีดสเตียร์รอยด์เพื่อลดอาการอักเสบภายใต้การดูแลของแพทย์
- เมื่อรักษาตามข้อ 1-4 แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น อาจต้องทำการผ่าตัด และทำกายภาพบำบัดหลังจากผ่าตัดเพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติให้มากที่สุด
